หลักสูตรการศึกษาปฐมวัยของโรงเรียนสารสาสน์เอกตรายึดหลักการตามแนวทางหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับการจัดการศึกษาอันเป็นจุดเด่นของโรงเรียนในรูปแบบ 2 ภาษา (Billingual) ที่มุ่งเน้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษควบคู่กับภาษาไทยแบ่งระดับการศึกษาออกเป็น 4 ระดับ ได้แก่ Nursery (NC.), Kindergarten 1 (KG.1), Kindergarten 2 (KG.2), Kindergarten 3 (KG.3) สาระการเรียนรู้ประกอบด้วยประสบการณ์สำคัญและสาระที่ควรเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน ด้านร่างกาย ด้านอารมณ์จิตใจ ด้านสังคม ด้านสติปัญญา มีสาระที่ควรเรียนรู้ 4 สาระ ประกอบด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเด็ก บุคคลและสถานที่แวดล้อมเด็ก ธรรมชาติรอบตัว และสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก ผ่านกระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการองค์รวม ด้วยกิจกรรมโครงงาน Project Approach ตระหนักถึงความความแตกต่างระหว่างบุคคลความถนัดและสติปัญญาด้วยกิจกรรม MI (Multiple Intelligences) ผ่านการเรียนรู้ตามแนวพหุปัญญา 6 กิจกรรมหลัก คือ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ กิจกรรมเคลื่อนไหวและจังหวะ กิจกรรมสร้างสรรค์ กิจกรรมกลางแจ้ง กิจกรรมเสรีและเกมการศึกษา รวมถึงกิจกรรมเสริมหลักสูตรที่หลากหลายได้แก่ โยคะ, พละ, ดนตรี, เปียโน, ศิลปะ, วิทยาศาสตร์, คอมพิวเตอร์ ว่ายน้ำและห้องสมุด ส่งเสริมให้เด็กมีทักษะชีวิตและสามารถปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นคนดี มีวินัยและมีความสุข ผ่านกิจกรรมวันสำคัญต่าง ๆ เช่น กิจกรรมวันไหว้ครูและถวายปีการศึกษา กิจกรรมวันแม่ กิจกรรมลอยกระทง กิจกรรมวันคริสต์มาส ฯลฯ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจ ประสานความร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับผู้ปกครอง ครอบครัว ชุมชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาการศึกษาเด็กปฐมวัยให้มีพัฒนาการทุกด้านอย่างมีคุณภาพเต็มศักยภาพ
หลักสูตรระดับชั้นเตรียมอนุบาล - อนุบาล 1 : (50 : 50)
ทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับภาษาจากกิจวัตรประจำวันและสิ่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น สี รูปทรง ธรรมชาติ ของใช้ประจำตัว ตลอดจนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ส่งเสริมพัฒนาการของนักเรียน
หลักสูตรระดับชั้นอนุบาล 2 - 3 : (85 : 15)
เน้นภาคภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นทักษะและกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายขึ้น ตลอดจนมุ่งเน้นทักษะการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันที่นักเรียนจะได้ใช้สื่อสารเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนระดับประถมศึกษาต่อไป
แนวทางการจัดประสบการณ์ ตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย กำหนดให้จัดประสบการณ์ในรูปแบบบูรณาการทั้งทักษะ สาระการเรียนรู้ โดยเป็นการจัดประสบการณ์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ กิจกรรม 6 หลัก ดังนี้
การอภิบาลนักเรียนทางโรงเรียนได้นำแนวทาง Positive school เข้ามาช่วยดูแลและส่งเสริมนักเรียนเป็นรายบุคคล โดยที่คุณครูจะเป็นผู้คอยเฝ้าระวังและติดตามสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน จากการจัดกิจกรรมต่างๆและกิจวัตรประจำวันมีการบันทึกพฤติกรรมโดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากการสนทนาจดบันทึกเป็นรายบุคคล ทั้งด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา หากพบความผิดปกติใดๆก็จะได้รับการส่งเสริมพัฒนาการโดยนักจิตวิทยาร่วมกับคุณครูและผู้ปกครอง ให้นักเรียนได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองมากขึ้น ทำในสิ่งที่ชอบและถนัดเพื่อนำไปสู่การเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพและอยู่กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
แนวทางการพัฒนาอัจฉริยะภาพ (Multiple Intelligences) จากแนวคิดทฤษฎีพหุปัญญา ของศาสตราจารย์ โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ (Dr. Howard Gardner) เกี่ยวกับการแบ่งความสามารถ ความถนัดหรืออัจฉริยภาพของมนุษย์ได้ถึง 8 ด้าน การ์ดเนอร์เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนมีอัจฉริยะภาพอยู่ในตัว เพียงแต่อาจจะถูกซ่อนไว้ สังคมโดยส่วนใหญ่ยอมรับให้มนุษย์ที่มีความสามารถทางด้านตรรกะ การคำนวณ ความสามารถด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาต่างประเทศ ความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์ เป็นอัจฉริยะบุคคลที่มีความฉลาดเหนือบุคคลอื่นๆ แต่สำหรับ Dr. Howard Gardner อัจฉริยะภาพของมนุษย์มีถึง 8 ด้าน และมนุษย์คนหนึ่งอาจจะมีอัจฉริยภาพที่มากกว่าหนึ่งด้าน หากแต่จะแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตามหากอัจฉริยะภาพที่มีอยู่ในคนแต่ละคนนั้น ไม่ได้ถูกส่งเสริมหรือกระตุ้นในทางที่ให้เกิดการพัฒนา อัจฉริยภาพนั้นก็อาจจะถูกกลืนหายไปหรือขาดการพัฒนาให้ดีขึ้นในช่วงเวลานั้น
อัจฉริยะภาพทั้ง 8 ด้านประกอบด้วย
1. ด้านภาพและมิติสัมพันธ์ (Visual-Spatial Intelligences)
2. ด้านภาษาและการสื่อสาร (Linguistic Intelligences)
3. ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ (Logical-Mathematical Intelligences)
4. ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว (Bodily Kinesthetic Intelligences)
5. ด้านดนตรีและการจับจังหวะ (Musical Intelligences)
6. ด้านมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่น (Interpersonal Intelligences)
7. ด้านการเรียนรู้ตนเอง (Intrapersonal Intelligences)
8. ด้านธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์ (Naturalist Intelligences)
จากทฤษฎีดังกล่าวโรงเรียนสารสาสน์เอกตราจึงได้นำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมเสริมพัฒนาการให้กับนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เปิดประสบการณ์การเรียนรู้ที่หลากหลาย มีโอกาสได้เรียนรู้ ได้ลองปฏิบัติสามารถใช้ทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อค้นหาความถนัดอันเป็นพื้นฐานสำคัญที่จะช่วยต่อยอดอัจฉริยภาพของแต่ละคนให้เห็นเด่นชัดขึ้นต่อไปในระดับชั้นที่สูงขึ้น ยังไม่เน้นหรือตัดสินอัจฉริยภาพของนักเรียนเป็นด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ